สรุปขั้นตอนนำเข้า ส่งออกสินค้า ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ประตูความสำเร็จ
ทำความเข้าใจ วิธีการนำเข้า-ส่งออกสินค้า 8 ขั้นตอน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มธุรกิจ ลดปัญหายุ่งยาก เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
8 ขั้นตอนการนำเข้า ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ฉบับมือใหม่เข้าใจง่าย
สำหรับคุณที่กำลังจะเป็นเจ้าของธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หรือเป็นตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ การทราบขั้นตอนการนำเข้าส่งออกสินค้าให้ถูกต้องตามกระบวนการเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ‘ภาษี’ หากดำเนินการผิดพลาด อาจทำให้สินค้าของคุณถูกยึดหรือถูกปรับเงินได้
ในบทความนี้จึงมาแนะนำขั้นตอนการนำเข้าส่งออกสินค้าผ่านกรมศุลกากร เพื่อให้การนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้คุณสามารถทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง
สารบัญบทความ
8 ขั้นตอน สำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
8 ขั้นตอน สำหรับการนำเข้า ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
ก่อนจะทำการส่งสินค้าไปต่างประเทศ หรือการนำเข้าสินค้าเพื่อขายในประเทศ จะต้องดำเนินตามขั้นตอนที่ทางกรมศุลกากรเป็นผู้กำหนด ซึ่งเราจะมาสรุปง่าย ๆ เพียง 8 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 มองหาสินค้า พร้อมเจรจาทำข้อตกลงกับผู้ขาย
การดำเนินธุรกิจจำเป็นจะต้องมีสินค้า หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งการมองหาสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออกจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและไม่ผิดต่อข้อกฎหมายการนำเข้าส่งออก อย่างเช่นการโอนเงินไปจีนเพื่อนำเข้าสินค้าจากจีนมาขาย ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เติบโตในประเทศไทยไม่น้อย
หลังจากเลือกสินค้าที่ต้องการนำเข้าส่งออกแล้ว อันดับต่อมาคือการหาคู่ค้าที่มีสินค้านั้น ๆ เมื่อตกลงส่งมอบสินค้าได้จะเข้าสู่การจัดเตรียมสินค้าและเอกสารสำหรับการนำเข้าส่งออกต่อไป และในระหว่างนี้จะต้องติดต่อบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการนำเข้าส่งออกสินค้า เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งมอบสินค้าจากคู่ค้าสู่ผู้รับปลายทาง
สำหรับผู้ที่ต้องการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ไม่ต้องกังวลใจเรื่องรับเงินและชำระเงิน เพราะ PingPong แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางรับและชำระเงินข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้า เราสามารถช่วยให้คุณชำระเงินโดยตรงกับซัพพลายเออร์ต่างประเทศได้ หรือถ้าเป็นฝ่ายส่งออก เราก็สามารถเป็นตัวกลางรับเงินจากลูกค้าจากทั่วโลก ช่วยให้คุณได้รับเงินสะดวกและง่ายกว่าที่เคย
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบข้อกำหนดต่าง ๆ สำหรับการนำเข้าส่งออกของประเทศต้นทางและปลายทาง
แต่ละประเทศมีข้อกำหนดในการนำเข้าส่งออกสินค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนจะรับสินค้ามาขาย ส่งสินค้าไปต่างประเทศ หรือทำธุรกิจนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศ ก็ควรจะต้องศึกษาถึงข้อกำหนดต่าง ๆ จากทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทางเสียก่อน เพื่อไม่ให้สินค้าถูกตีกลับหรือถูกยึด สร้างความเสียหายแก่ธุรกิจ
ขั้นตอนที่ 3 ลงทะเบียนกับทางกรมศุลกากร
สำหรับผู้ที่ต้องการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้าส่งออกกับกรมศุลกากรก่อนเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันคุณสามารถลงทะเบียนกับกรมศุลกากรได้ถึง 3 ช่องทาง คือ
- หน่วยรับบริการลงทะเบียนของกรมศุลกากร : สามารถเตรียมเอกสารต่าง ๆ และยื่นให้กับกรมศุลกากรได้ที่
- ส่วนทะเบียนและสิทธิพิเศษ อาคาร 120 ปี ชั้น 1 กรมศุลกากร
- ฝ่ายบริหารงานทั่วไป หรือหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติให้ลงทะเบียน ณ สำนักงาน/ด่านศุลกากร
สามารถดาวน์โหลดเอกสารสำหรับใช้ลงทะเบียนกับกรมศุลกากรได้ที่นี่
- ระบบลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ Customs Trader Portal สามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://www.customstraderportal.com/auth/login โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ที่ลงทะเบียนจะต้องมีสัญชาติไทย ทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
- ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมศุลกากร Online Customs Registration
ขั้นตอนที่ 4 ติดต่อจองระวางขนส่งสินค้า
เมื่อทำการลงทะเบียนกับศุลกากรเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาจะเป็นขั้นตอนของการจองระวางขนส่งสินค้าเพื่อส่งสินค้าออกจากประเทศผู้ส่งออกมายังประเทศผู้รับสินค้า ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถติดต่อกับตัวแทนขนส่งสินค้ามาเดินเรื่องให้เพื่อความสะดวก โดยที่ผู้ส่งออกจะต้องแจ้งข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อให้สามารถดำเนินการจองระวางสินค้าได้อย่างราบรื่น
ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้มีดังนี้
- รายละเอียดของสินค้า ได้แก่ ประเภทสินค้า, น้ำหนักสินค้า, ขนาดของสินค้า, จำนวนสินค้าทั้งหมด
- ใบราคาสินค้า (Invoice) : ระบุรหัสสินค้า ราคาสินค้า จำนวนสินค้า และข้อกำหนด (Incoterm)
- จุดหมายปลายทางที่ต้องการส่งสินค้า
- ผู้รับสินค้า (Consignee) และผู้ส่งสินค้า (Shipper)
- วันที่ต้องการส่งออกสินค้า
ขั้นตอนที่ 5 ดำเนินการขนส่งสินค้าจากคลังเก็บสินค้าไปคลังสินค้าปลายทาง
ผู้ส่งออกจะต้องเตรียมสินค้าสำหรับส่งออกให้พร้อม และดำเนินการส่งมอบสินค้าไปยังท่าส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกจะได้เอกสารใบตราส่งสินค้าจากท่าส่งออกเพื่อเป็นหลักฐานในการส่งออกสินค้าเป็นที่เรียบร้อย พร้อมเดินทางไปยังผู้รับปลายทาง
ขั้นตอนที่ 6 จัดทำใบขนสินค้า ส่งให้กรมศุลกากร
ก่อนสินค้าจะถูกส่งออกไปยังประเทศปลายทาง จะต้องมีการจัดทำใบขนส่งสินค้าเพื่อส่งข้อมูลให้กับกรมศุลกากรเสียก่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้มักจะเป็นตัวแทนขนส่งสินค้าที่ได้รับมอบอำนาจโดยผู้ส่งออกเป็นผู้ดำเนินการให้
ขั้นตอนที่ 7 ดำเนินพิธีศุลกากรขาเข้า
สินค้าที่เดินทางมายังประเทศปลายทางจะยังไม่สามารถรับมาได้ทันที ซึ่งขั้นตอนการนำเข้าสินค้าจะต้องมีการดำเนินพิธีศุลกากรขาเข้า (custom clearance) เสียก่อน โดยผู้นำเข้าจะต้องเตรียมเอกสารการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้พร้อม รวมถึงเตรียมชำระภาษีอากรขาเข้าให้เรียบร้อยจึงจะสามารถออกสินค้าจากท่าเพื่อส่งไปยังผู้รับปลายทางได้
ขั้นตอนที่ 8 สินค้าถูกจัดส่งไปปลายทาง
หากการดำเนินพิธีศุลกากรไม่เกิดปัญหาอะไร สินค้าจะถูกปล่อย ผู้นำเข้าสามารถนำสินค้าไปจัดส่งที่จุดหมายปลายทางได้เลย แต่ก่อนจะรับสินค้าควรจะต้องตรวจเช็กให้เรียบร้อยก่อนเซ็นรับสินค้า เนื่องจากผู้ขายอาจไม่รับผิดชอบหากเกิดปัญหากับสินค้า
สรุปการนำเข้าส่งออกสินค้า
การนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างประเทศจะมีขั้นตอนในการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าที่ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องทราบข้อมูลเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาตัวแทนนำเข้าส่งออกสินค้า หรือข้อกำหนดของการนำเข้าส่งออกสินค้าแต่ละประเทศ เพื่อให้การนำเข้าส่งออกสินค้าไม่เกิดปัญหาระหว่างการขนส่ง และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น
รายการอ้างอิง
การลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกกับกรมศุลกากร. (ม.ป.ป). Thai Customs. https://www.customs.go.th/cont_strc_simple.php?ini_menu=menu_business_160421_01_160421_01&ini_content=business_160426_01_160426_01&lang=th&left_menu=menu_business_160421_01_160421_01