จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีวิธีและขั้นตอนยื่นคำขออย่างไร
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กระบวนการสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ประโยชน์ของการจดทะเบียน วิธีการและการเตรียมเอกสารที่คนทำธุรกิจต้องรู้!
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กระบวนการและวิธีการยื่นสำหรับเจ้าของธุรกิจ
ในโลกของการทำธุรกิจ หรือการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ควรให้ความสนใจ เพราะจะส่งผลดีให้กับธุรกิจและภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น ดังนั้นหากใครที่เพิ่งเริ่มหรือกำลังธุรกิจ มาทำความรู้จักกับการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ความสำคัญและขั้นตอนวิธีการยื่นขอจดเครื่องหมายการค้ากัน
สารบัญบทความ
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) คืออะไร สำคัญอย่างไรกับธุรกิจ
เอกสารที่ต้องเตรียมในการขอจดทะเบียน
วิธียื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีขั้นตอนวิธีอย่างไร
ประโยชน์ของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดีอย่างไร
ประเภทเครื่องหมายการค้า แบ่งตามลักษณะการทำธุรกิจ หรือรูปแบบบริษัท
ประเภทเครื่องหมายการค้าในลักษณะอื่น ๆ มีอะไรบ้าง?
ลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่จดได้ต้องพิเศษหรือแตกต่างอย่างไร
ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ที่ไหน ต้องไปเองหรือไม่
อายุความคุ้มครองของเครื่องหมายการค้า
สรุป จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) คืออะไร สำคัญอย่างไรกับธุรกิจ
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) คือ การนำโลโก้ ภาพถ่าย ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ที่ต้องการใช้ในธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ไปขึ้นทะเบียนเพื่อให้เจ้าของได้มีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ บนสินค้าหรือแพลตฟอร์มการขายแต่เพียงผู้เดียว
ทั้งนี้เทรดมาร์คก็เป็นการจดทะเบียนเพื่อบ่งบอกว่าเครื่องหมายการค้านี้มีเจ้าของลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ผู้อื่นจะไม่สามารถนำไปใช้ซ้ำหรือดัดแปลงได้ และยังเป็นการสร้าง Awareness หรือการรับรู้ของลูกค้าถึงการมีอยู่ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
เอกสารที่ต้องเตรียมในการขอจดทะเบียน
ในการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีเอกสารที่จำเป็นต้องเตรียม ดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชนผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า
- ต้นฉบับคำขอจดทะเบียน แบบ ก. 01
- ไฟล์ภาพหรือชื่อเครื่องหมายทะเบียนการค้า ขนาด 5x5 เซนติเมตร ขนาดไฟล์ไม่เกิน 500KB
- หากจดทะเบียนในนามนิติบุคคล ให้เตรียมสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน
- หากมอบให้ผู้อื่นทำเรื่องจดทะเบียนให้ ต้องมีหนังสือใบมอบอำนาจ ก. 18 และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ควรเตรียมไฟล์ภาพหรือชื่อที่ต้องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีขนาดพอดีหรืออยู่ภายใน 5x5 เซนติเมตร เนื่องจากหากภาพมีขนาดใหญ่เกินจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเซนติเมตรละ 200 บาท
วิธียื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีขั้นตอนวิธีอย่างไร
วิธีจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไม่ยุ่งยากและมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน สามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ทางออนไลน์ หรือเดินทางไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเดินเรื่องก็ได้เช่นกัน โดยรายละเอียดยื่นขอจดทะเบียน มีดังนี้
- ยื่นตรวจสอบเครื่องหมายการค้าของตัวเองว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้ทำการจดทะเบียนแล้วหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่
- ตรวจสอบด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา https://www.ipthailand.go.th/th/
- เดินทางไปตรวจสอบกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง โดยมีค่าบริการสืบค้น 200 บาท/ชั่วโมง
- ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าออนไลน์ ผ่านระบบ E-Filling ในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา https://www.ipthailand.go.th/th/
- หากยังไม่มี Account User ให้ลงทะเบียนสร้าง User และ Password ให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นเข้าสู่ระบบ
- ไปที่เมนู “บริการออนไลน์” จากนั้นเลือก “ระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอิเล็กทรอนิกส์” และล็อกอินให้เรียบร้อย
- ไปที่เมนู “Trademark” เลือกแบบฟอร์ม ก. 01 จากนั้นกรอกข้อมูลตามหัวข้อให้ครบ และอัปโหลดเอกสารที่ใช้ยื่นจดทะเบียนให้เรียบร้อย
- ระบบคำนวณค่าธรรมเนียมขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
- กด “ส่งเรื่อง”
- ระบบจะพาไปยังหน้าการชำระเงิน สามารถเลือกชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Internet Banking, ตัดบัตรเครดิต/เดบิต, เคาท์เตอร์เซอร์วิสหรือเคาท์เตอร์ธนาคาร
- ชำระเงิน และติดตามอัปเดตสถานะคำขอการจดทะเบียนได้ผ่าน “ระบบสอบถามสถานะคำขอสำหรับประชาชน”
ประโยชน์ของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดีอย่างไร
ทำไมเจ้าของธุรกิจถึงควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า? การจดทะเบียนเทรดมาร์คมีประโยชน์ข้อดีสำหรับการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะอันดับแรกจะทำให้ลูกค้าสามารถจดจำได้ว่าสัญลักษณ์หรือภาพนี้ขายอะไร เป็นสินค้าประเภทไหน และยังมีข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้
- สร้างการรับรู้ (Awareness) และการจดจำให้กับกลุ่มผู้บริโภค
- ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของธุรกิจ
- เพิ่มการต่อยอดของธุรกิจในอนาคต เช่น การสร้างแฟรนไชส์
- สร้างความแตกต่างในสินค้าที่คล้ายกันในตลาด
- เพิ่มมูลค่าและคุณค่า (Value) ของสินค้าได้มากขึ้น
โดยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ จะมีผลภายในประเทศเท่านั้น ถ้าหากต้องการให้มีความคุ้มครองในประเทศอื่นที่ต้องการทำธุรกิจด้วย ก็ต้องจดทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ถ้าหากมีธุรกิจในประเทศจีน ก็ต้องทำการจดเครื่องหมายการค้าจีน เป็นต้น
ประเภทเครื่องหมายการค้า แบ่งตามลักษณะการทำธุรกิจ หรือรูปแบบบริษัท
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็มีหลายประเภทเช่นกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่ต้องการจดทะเบียน โดยจะมีทะเบียนเครื่องหมายการค้า 4 ประเภท
เครื่องหมายการค้า (Trademark)
เครื่องหมายการค้า (Trademark) เป็นเครื่องหมายซึ่งใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงสินค้าและธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในสินค้าและเครื่องหมายการค้าของบุคคลหรือธุรกิจอื่น
เครื่องหมายการบริการ (Service Mark)
เครื่องหมายการบริการ (Service Mark) เป็นเครื่องหมายซึ่งใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงธุรกิจประเภทบริการ เช่น โรงแรม สายการบิน หรือธนาคาร
เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark)
เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) เป็นเครื่องหมายที่สื่อถึงการรับรองในคุณภาพของสินค้าหรือบริการ เช่น เครื่องหมายฮาลาล (Halal) ISO หรือสัญลักษณ์มิชลินในร้านอาหาร
เครื่องหมายร่วม (Collective Mark)
เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) เป็นเครื่องหมายที่ใช้สำหรับกลุ่มรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจในเครือเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน
ประเภทเครื่องหมายการค้าในลักษณะอื่น ๆ มีอะไรบ้าง?
นอกจากประเภทเครื่องหมายการค้าที่ขึ้นทะเบียนตามลักษณะของธุรกิจหรือบริษัทแล้ว ก็ยังมีประเภทเทรดมาร์คที่เป็นลักษณะอื่น ๆ ได้อีกด้วย ดังนี้
เครื่องหมายเสียง (Sound Mark)
เครื่องหมายการค้าในรูปแบบ “เสียง” จะเป็นเสียงที่ทำให้ผู้บริโภคได้ยินแล้วทราบถึงแบรนด์ได้ โดยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเสียงจะต้องมีจุดเด่น 3 ข้อ ได้แก่ ลักษณะเฉพาะ ไม่ผิดกฎหมาย และไม่เหมือนหรือคล้ายกับ Sound Mark ที่เคยจดทะเบียนไว้แล้ว
เครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress)
เครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) เป็นเครื่องหมายที่ใช้รูปถ่าย รูปวาดประดิษฐ์ ข้อความ หรือตัวอักษรเพื่อสร้างเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงธุรกิจ หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่าโลโก้ การใช้ Trade Dress จะต้องไม่สื่อถึงสิ่งที่สามารถทราบได้โดยทั่วกัน ไม่สื่อถึงสินค้าโดยตรง ต้องใช้สีและการออกแบบโดยเฉพาะ
เครื่องหมายกลิ่น (Smell Mark)
เครื่องหมายกลิ่น (Smell Mark) เป็นเครื่องหมายโดยใช้กลิ่นสื่อถึงแบรนด์หรือธุรกิจเช่นกัน โดยจะต้องเป็นกลิ่นที่ไม่เป็นกลิ่นธรรมชาติของสินค้า และไม่เป็นกลิ่นที่สื่อถึงสินค้าโดยตรง
ลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่จดได้ต้องพิเศษหรือแตกต่างอย่างไร
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก็จะมีลักษณะที่กำหนดว่าสามารถทำการจดทะเบียนได้เช่นกัน โดยลักษณะที่สามารถจดทะเบียน Trademark ได้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ต้องมีความเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ ผู้บริโภคสามารถแยกความแตกต่างได้
- ไม่ใช้คำที่สื่อถึงสินค้า บริการ หรือธุรกิจโดยตรง เช่น ใช้คำว่า Clothes กับเสื้อผ้า
- ไม่ซ้ำหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่เคยจดทะเบียนไว้แล้ว
- ไม่มีคำหรือสัญลักษณ์ต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น สิ่งลามกอนาจาร ชื่อทางภูมิศาสตร์ ชื่อประเทศ สัญลักษณ์ทางราชการและศาสนา
ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ที่ไหน ต้องไปเองหรือไม่
อาจมีหลายคนที่อยากทราบว่าต้องไปจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าที่ไหน การขอยื่นจดทะเบียนสามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้
- ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าผ่านช่องทางออนไลนฺ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
- เดินทางไปทำเรื่องจดทะเบียนที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด
- ใช้บริการช่วยยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับทางแพลตฟอร์มที่ให้บริการเพียงเตรียมเอกสารและใบมอบอำนาจ
- เดินทางไปทำเรื่องจดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง หรือทางไปรษณีย์
- สำหรับคนที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ เช่น เปิดบริษัทในจีน ซึ่งต้องมีการจดทะเบียนเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในประเทศจีนด้วย สามารถใช้บริการผู้ที่มีประสบการณ์ในการช่วยยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศให้ดำเนินเรื่องแทนได้
อายุความคุ้มครองของเครื่องหมายการค้า
เมื่อได้ทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว เครื่องหมายนั้นจะมีอายุความคุ้มครอง 10 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน ซึ่งเมื่อครบกำหนดอายุความคุ้มครองแล้ว สามารถทำการต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุ และค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมร้อยละยี่สิบจากค่าธรรมเนียมต่ออายุ ภายใน 3 เดือนก่อนสิ้นอายุ หรือภายใน 6 เดือนหลังจากสิ้นอายุความคุ้มครอง
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การบันทึกข้อตกลงคำยื่นขอต่ออายุ และส่งเอกสารให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาหากมีเอกสารตกหล่นบกพร่องภายในระยะเวลาที่กำหนด
- การชำระค่าธรรมเนียมไปแล้วนั้นไม่สามารถขอคืนได้
- หากยื่นคำขอผ่านระบบ E-Filing จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไขการยื่นคำขอจดทะเบียน
- หากมีการมอบอำนาจ ให้เตรียมหนังสือมอบอำนาจให้เรียบร้อย และทำการรับรองต่าง ๆ หากมีการมอบอำนาจในต่างประเทศหรือในประเทศ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- กระทำการมอบอำนาจในต่างประเทศ ให้สถานทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรองสำหรับรับรองลายมือชื่อ
- กระทำการมอบอำนาจในต่างประเทศ ให้หัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ณ ประเทศที่ทำการมอบอำนาจเป็นผู้รับรอง กรณีรับรองผู้รับมอบอำนาจ
สรุป จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และการรับรู้ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์หรือธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นการให้สินค้าที่มีนั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ ที่เป็นสินค้าประเภทเดียวกันในตลาดอีกด้วย โดยการจดทะเบียนเทรดมาร์คนี้จะมีอายุความคุ้มครอง 10 ปี
การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก็สามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นขอจดทะเบียนออนไลน์ การไปทำเรื่องโดยตรงที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือใช้บริการช่วยยื่นจดทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาก็ได้เช่นกัน
หากกำลังต้องการใช้บริการช่วยยื่นจด Trademark สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับ ATPServe https://www.atpserve.com/ บริษัทรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครบวงจร พร้อมแคมเปญร่วมกับ PingPong Payments เมื่อจดเครื่องหมายการค้าที่ US จะได้รับส่วนลดเพิ่มเติมมูลค่า 2500 บาท